ศึกษาเลือดจระเข้จากงานวิจัย

ศึกษาเลือดจระเข้จากงานวิจัย

 

เลือดจระเข้_330x248_5

         แน่นอนว่า สัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างจระเข้ยังไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก ย่อมแสดงให้เห็นว่า เลือดจระเข้ต้องมีความพิเศษจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยเรื่อง "ประสิทธิภาพของซีรั่มจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย" ในปีพ.ศ. 2545 ซึ่งตลอดการวิจัยนั้นคณะผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยต้องเก็บตัวอย่างเลือดจระเข้บ่อยครั้งมาก ผลการวิจัยพบว่า เลือดจระเข้มีสารต้านจุลชีพ (Anti-microbial peptides) อยู่ในน้ำเลือด ซึ่งน่าจะเป็นโปรตีนคอมพลีเม้นต์ (Complements) กล่าวคือ เป็นโปรตีนสายสั้นๆที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิต้านทานในสัตว์ มีสรรพคุณในการทำลายแบคทีเรียสูงอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิดของจระเข้ ซึ่งในเวลาต่อมาพบว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันได้ค้นพบสารตัวเดียวกันนี้ในเลือดจระเข้สายพันธุ์อเมริกันเช่นเดียวกัน

         ซึ่งจากผลงานวิจัยครั้งนี้ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัดปีที่ 5 ฉบับเพิ่มเติมที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2546 หน้า S 120 และในเดือนเมษายน 2546 ผศ.ดร.จินดาวรรณ สิรันทวิเนติ ผู้ช่วยงานวิจัยโครงการได้นำเสนอในการประชุมวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 29 ที่จังหวัดขอนแก่น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาขั้นลึกเรื่องเลือดจระเข้พันธุ์ไทยที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

       งานวิจัยในปี 2549 - 2550 คือ การศึกษาผลของเลือดจระเข้ต่อการเสริมสร้างฮีโมโกลบินในหนูทดลอง ซึ่งได้ผลดีต่อหนูทดลองที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง

         ในปี 2551 - 2553 มีโครงการวิจัยอีก 2 โครงการคือ การตรวจหาไอจีเอฟ-วัน (Insulin like Growth factor - 1, IGF-1) ในเลือดจระเข้ และอีกโครงการ คือ การศึกษาฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่บริโภคเลือดจระเข้แห้งในสูตรต่างๆ ทั้งสองผลการศึกษาโดยสรุปแล้ว พบว่า เลือดจระเข้ให้ผลดีต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้

(อ้างอิงจาก : วิน เชยชมศรี. (2562). เลือดจระเข้, (1), 75-82.)